เบญจภาคีเนื้อชิน
พระยอดขุนพลมีการจัดสร้างมาแต่โบราณกาลทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีหลากหลายเนื้อ ทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน และเนื้อสัมฤทธิ์ โดยเชื่อกันว่าทรงพุทธคุณเป็นเลิศในด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี กาลต่อมา ปรากฏพุทธคุณเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งพระบางประเภทยังถูกผูกเข้ากับตำนานวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ จึงส่งผลให้ “พระยอดขุนพล”เป็นพระที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการทหารตำรวจทั้งหลาย
พระยอดขุนพลกรุเก่าที่ขึ้นชื่อลือชานั้นมีมากมาย โดยเฉพาะที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งนับเป็นพระพิมพ์ยุคต้นๆ เช่นที่ กรุวัดไก่ และ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพบในกรุอื่นๆ อีก อาทิ กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา,กรุเสมาสามชั้น จ.เพชรบุรี หรือ กรุชากังราว จ.กำแพงเพชร เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องลงลึกไปถึงองค์พระแต่ละพิมพ์แต่ละกรุอีกด้วย
ในราวปี พ.ศ.2497ที่ “ท่านตรียัมปวาย”ได้ริเริ่มมีการจัดลำดับ “เบญจภาคีของพระเครื่อง”แต่ละชุดเอาไว้ รวมทั้ง “ชุดเบญจภาคีพระยอดขุนพลเนื้อชิน”ซึ่งถือเป็นพระยอดขุนพลตระกูลเหนียว คือ มีพุทธคุณโดดเด่นเป็นเลิศในด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และมหาอุด อันประกอบด้วย พระร่วงรางปืน, พระหูยาน, พระท่ากระดาน, พระชินราชใบเสมา และ พระมเหศวร โดยจะสังเกตได้ว่า พระแต่ละองค์นั้นจะมีพุทธลักษณะอันสง่างาม เข้มขลัง น่าเกรงขาม สมเป็น “ยอดขุนพล” ทั้งสิ้น
ชุดเบญจภาคีพระกรุเนื้อชิน ประกอบด้วย :
๑. พระหูยาน (อายุประมาณ ๗๐๐ ปี) กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี
๒. พระร่วงหลังรางปืน (อายุประมาณ ๗๐๐ ปี) กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย
๓. พระท่ากระดาน (อายุประมาณ ๕๐๐ ปี) กรุศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
๔. พระมเหศวร (อายุประมาณ ๗๐๐ ปี) กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
๕. พระพุทธชินราชใบเสมา (อายุประมาณ ๗๐๐ ปี) กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก
พระหูยานจ.ลพบุรี พระกรุเก่ายอดนิยมอันดับหนึ่งแห่งเมืองละโว้ ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ พระกรรณยาวจดพระอังสา จึงนำมาขนานนามองค์พระ และมีการค้นพบ ณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นหลัก จึงเรียกกันว่า “พระหูยาน ลพบุรี” ซึ่งมีทั้งกรุเก่าและกรุใหม่ นอกจากนี้ยังมีปรากฏในอีกหลายกรุหลายจังหวัด
พระร่วงหลังรางปืน จ.สุโขทัย พระกรุที่มีเอกลักษณ์ประจำ คือ “หลังรางปืน” และได้รับการยกย่องให้เป็น “จักรพรรดิแห่งพระยอดขุนพลเนื้อชิน” ด้วยพุทธศิลป์ที่อ่อนช้อยงดงามแต่แฝงด้วยความเข้มขลัง กอปรกับพุทธคุณเป็นเลิศเป็นที่ประจักษ์ มีการขุดพบบริเวณหน้าพระปรางค์องค์ใหญ่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เพียงแห่งเดียว และมีจำนวนน้อยมากๆ
พระท่ากระดานกรุศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พระกรุเก่าที่มีพุทธศิลปะแบบอู่ทองบริสุทธิ์ที่อันงดงาม พระพักตร์เคร่งขรึมน่าเกรงขาม สมัยก่อนเรียกขานกันว่า “พระเกศบิด ตาแดง” ตามพุทธลักษณะเฉพาะ มีการขุดค้นพบที่ วัดเหนือ วัดกลาง วัดล่าง และบริเวณถ้ำลั่นทม ด้วยต่างเวลาต่างกรุจึงได้แบ่งแยกเป็นพระกรุเก่าและพระกรุใหม่
พระมเหศวรจ.สุพรรณบุรี พระกรุที่มีพุทธลักษณะแปลกแตกต่างพิมพ์หนึ่งของเมืองไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของโบราณจารย์ในอดีต ที่แก้ปัญหาพระเนื้อชินที่ส่วนพระศอมักจะบอบบาง โดยรังสรรค์องค์พระเป็นสองหน้าและให้พระศอสวนทางกัน จึงกลายมาเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นขององค์พระ มีการค้นพบที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
พระพุทธชินราชใบเสมาจ.พิษณุโลก พุทธศิลปะและพิมพ์ทรงขององค์พระน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพระตระกูล “ยอดขุนพล” ในศิลปะลพบุรี และน่าจะสร้างขึ้นพร้อมหรือไล่เลี่ยกันกับการสร้างพระปรางค์ประธานของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ “วัดใหญ่” โดยจำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช พระประธานในพระอุโบสถ ส่วนคำว่า “ใบเสมา” มาจากที่องค์พระมีสัณฐานเหมือนใบเสมาโบราณ
ชุดเบญจภาคีพระยอดขุนพลเนื้อชินนี้นับเป็น “สุดยอดแห่งตำนานพระยอดขุนพล” เป็นยอดปรารถนา ค่านิยมจึงสูงเอามากๆ และหาของแท้ยากยิ่งนัก